วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สิทธิในการที่จะตาย รู้ไว้ๆๆๆๆ

ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยยืดและต่ออายุการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่ล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายบางรายมีชีวิตอยู่ด้วยความช่วยเหลือของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยยืดอายุการทำงานของร่างกายออกไป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ สายระโยงระยางที่ห้อยแขวนทั่วร่างเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงร่างกายที่ใกล้หมดสภาพ ทั้งหมดทั้งปวงเป็นไปเพื่อยืดวันเวลาในการตายออกไป

คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า ภาวะที่ผู้ป่วยมีชีวิตในสภาพ “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง” อยู่ด้วยเครื่องจักรนั้น เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะดำรงตนอยู่อย่างมีคุณภาพ และไม่ปรารถนาที่จะเห็นตัวเองตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น

การเลือกที่จะไม่อยู่หรือตายในสภาพไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นที่กล่าวมา ทำให้เกิดประเด็นการพูดคุยเรื่อง สิทธิในการตาย อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่คัดค้าน

เมื่อกล่าวถึง สิทธิที่จะตาย หลายคนอาจเข้าใจว่า เป็นการให้สิทธิที่จะยุติการรักษาพยาบาล หรือให้แพทย์กระทำการใด ๆ เพื่อเร่งการตาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการส่งเสริมการฆ่าตัวตาย เป็นการฆ่า ซึ่งเป็นเรื่องผิดบาป

ในเมืองไทย การเร่งการตายด้วยเทคโนโลยี (Active Euthanasia –การุณฆาต) หรือการปฏิเสธให้การรักษาผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ ทั้งในแง่ของกฎหมาย จริยธรรมทางวิชาชีพทางการแพทย์ รวมถึงในมุมมองทางศาสนาด้วย

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ในสังคมที่ไม่มอง ความเจ็บปวด ทุพลภาพ หรือความตาย เป็นศัตรู จะยอมรับ โอบกอดความตายด้วยปัญญา เห็นเป็นการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ไม่พยายามผลักไส หรือหนีไปด้วยการเร่งความตาย หรือแม้แต่ยื้อออกไปเพราะยอมรับความตายไม่ได้

ผู้ที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ผู้ที่ยอมรับความตาย แต่ใช้ความตายยุติปัญหาบางอย่าง และผู้ที่ฆ่าตัวตายมักกระทำการในเวลาที่จิตใจเป็นอกุศล คือ เศร้าหมอง หดหู่ น้อยเนื้อต่ำใจ โกรธ เคียดแค้น หรือหลงผิด การตายที่จมอยู่ในความทุกข์เช่นนี้ย่อมไม่ใช่การตายที่ดีงาม และอาจสืบเนื่องไปสู่สภาวะหลังการตายด้วย

สิทธิในการตาย (ดี)

เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะไร้การเยียวยา สภาพร่างกายเสื่อมจนฟื้นคืนไม่ได้อีกแล้ว สิทธิการตาย น่าจะอยู่ที่การปล่อยให้ขั้นตอนการตายเป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากการแทรกแซง ฉุดยื้อด้วย ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ (Passive Euthanasia) และก็ไม่ได้หมายความว่า แพทย์จะยุติการรักษา เพียงแต่การรักษาในระยะนี้เป็นไปเพื่อเยียวยาอาการ บรรเทาความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน แต่จะไม่ทำอะไรรุกเร้า เร่งหรือยื้อความตายอีกต่อไป ถ้าหากจะยืดการตายออกไปก็เป็นไปเพื่อสร้างความพร้อมทางจิตวิญญาณให้กับผู้ที่กำลังจะจากไป

หนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า (พินัยกรรมชีวิต)

การตายอย่างสงบ เป็นธรรมชาติและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิที่บุคคลพึงมีและพึงได้รับการเคารพ ยอมรับจากผู้อื่น สังคม และกฎหมาย แต่ปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่สามารถตายอย่างมีศักดิ์ศรีได้ เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้แสดงเจตจำนงในการใช้สิทธินี้ไว้ล่วงหน้า หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันขึ้นที่เราไม่อยู่ในสภาพที่จะบอกกล่าวความต้องการที่จะตายดีได้ ก็จะมีผู้อื่น ญาติ แพทย์ มาตัดสินแทนเรา ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ญาติอาจจะไม่รู้ความจริงว่า ผู้ป่วยอยู่ในภาวะใกล้ตายแล้ว หรือยังหวังที่จะให้คนที่ตนรักหายและกลับบ้านได้ยังมีอยู่ตลอดเวลา หรือแม้รู้แต่ก็คิดว่าต้องรักษาพยาบาลให้เต็มที่เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณให้กับคนที่ตนรัก ยิ่งในครอบครัวที่มีญาติพี่น้องมาก ยิ่งยากแก่การตัดสินใจ

ปัจจุบันเราจึงเริ่มพูดถึงแนวคิด เรื่อง พินัยกรรมชีวิต (Living will) คือให้มีการแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้าได้ อาจจะระบุแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ที่เราต้องการ หรือไม่ต้องการในกรณีต่างๆไว้

ในหลายประเทศมีกฎหมายรับรองในเรื่องนี้ และล่าสุด ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุถึงสิทธิในการจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติไว้ด้วย

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่ปรารถนาจะจากไปอย่างสงบ ตามความเชื่อของตน และคาดว่าจะช่วยลดทอนปัญหาความขัดแย้งระหว่างญาติพี่น้อง และ ทีมผู้ให้การรักษา ซึ่งหลายครั้งจะพบว่ามีปัญหาระหว่างแนวคิดที่จะยื้อชีวิตและความเห็นที่ต้องการปล่อยการตายให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ แม้ผู้ที่ปรารถนาจะจากไปอย่างสงบจะได้แจ้งความประสงค์ไว้ หากถึงเวลาที่ตัวเขาไม่สามารถบอกกล่าว ชี้แจงความต้องการได้ ก็คงขึ้นอยู่กับญาติ และผู้ให้การรักษาว่าจะเคารพในความปรารถนาของผู้ที่กำลังจะจากไปหรือไม่

การร้องขอ “การตายดี” จะเป็นไปได้ ก็เมื่อเราได้สื่อสารเรื่องความตายกันอย่างเนือง ๆ ได้รับรู้ความคิด ความเห็น และ ความเชื่อของกันและกัน และท้ายที่สุด ถ้าเราเคารพในความต้องการของผู้ที่เรารัก และไม่เห็นความตายเป็นศัตรูที่ต้องเอาชนะ

1 ความคิดเห็น: