วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

กฎหมายข่มขืนกับความเคยชินเดิมๆ

สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงกฎหมายอาญา ในหมวดที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศ และความเคลื่อนไหวของหน่วยงานรัฐที่ต้องการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่ง และดูเหมือนจะเป็นเหตุผลที่คนที่อยากจะแก้กฎหมายอาจไม่ได้รู้เท่าทันนัก คือ ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าคนเพศเดียวกันจะข่มขืนกันได้ยังไง และผู้ชายไม่น่าจะถูกข่มขืนได้ พูดง่ายๆ คือ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองจัดอยู่ในกลุ่มโฮโมโฟเบีย หรือ เกลียดและกลัวคนรักเพศเดียวกัน

อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือกฎหมายที่แก้ไขไปเมื่อปี 2550 ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา รวมไปถึงหมอนิติเวชต่างส่ายหน้าบอกว่าหมดปัญญาที่จะทำงานต่อไปได้ เพราะคำนิยามกว้างเกินไป ลำบากในการพิสูจน์และหาหลักฐานประกอบการส่งฟ้องหรือแม้แต่พิจารณาคดี นั่นคือ นิยามของคำ ว่ากระทำชำเราถูกเปลี่ยนจากความหมายแคบๆ ที่หมายถึงการนำอวัยวะเพศชายล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศหญิง เป็น การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

กรณีความยากลำบากในการทำงานนั้น มีมุมมองจากหมอนิติเวชระบุว่าควรจะแก้นิยามของคำว่า “กระทำชำเรา” กลับมาเหมือนเดิม คือให้ชายข่มขืนหญิงเท่านั้น เพราะตรวจคราบอสุจิได้ง่าย ตรวจดีเอ็นเอก็ได้ แต่ถ้าใช้อวัยวะเพศไปสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนักของอีกคนหนึ่ง หมอก็เริ่มจะมึนว่าจะตรวจกันยังไง ส่วนพนักงานสอบสวนเอง มักจะพึ่งพาการตรวจของหมอเป็นหลักอยู่แล้ว เรื่องนี้น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่มาก แต่การพิจารณาคดีนั้น ต้องทำอย่างรอบคอบ มีการสืบสวน สอบสวน หาพยานหลักฐาน และพยานบุคคลมากมายมาประกอบ รวมทั้ง รับฟังคำให้การทั้งจากผู้กระทำและถูกกระทำด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะมีพนักงานสอบสวน และอบรมเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนไปทำไม เพียงแค่ตั้งงบประมาณซื้ออุปกรณ์แพทย์และเครื่องมือตรวจดีเอ็นเอก็เพียงพอแล้วกระมัง

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เมื่อสังคมเปลี่ยนไปตามเวลา กฎหมายก็ย่อมเปลี่ยนตามให้สอดคล้องกับสภาพสังคม สอดรับกับความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาที่ควรจะมีมากขึ้น และการทำงานของผู้รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอื่นๆ ย่อมต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องไปด้วย เราคงไม่สามารถทำงานแบบเดิมๆ โดยไม่พัฒนา ยิ่งดีเสียอีกที่กฎหมายใหม่ๆ จะเป็นตัวบังคับให้เราต้องคิดค้นและพัฒนาอยู่เสมอ และท้าทายประสิทธิภาพการทำงานของเราด้วย อย่าให้ความไม่คุ้นชินมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตัวเอง

ในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าผู้ชายก็ถูกข่มขืนได้เช่นกัน แต่ก็ยังมีมายาคติอยู่เช่นกัน แต่สิ่งที่ค่อนข้างก้าวหน้ากว่าบ้านเราคือ มีความพยายามใช้ความรู้มาพัฒนาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยโดย Michael Scarce ที่ถือว่าศึกษาเกี่ยวกับชายที่ถูกข่มขืนโดยเฉพาะ โดยเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ และความทุกข์ที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เหตุผลที่ไม่กล้าไปแจ้งความ เช่น รู้สึกอับอาย และคิดว่าคนจะไม่เชื่อว่าตัวเองพูดความจริง เพราะสังคมยังมีภาพของผู้ชายว่าเป็นผู้กระทำมากกว่าจะถูกกระทำ และก็ได้สรุปว่า คนในกระบวนการยุติธรรมและการแพทย์ที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการอบรมให้มีความละเอียดอ่อนต่อการดำเนินคดีเกี่ยวกับเพศ

ในอังกฤษเองมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 150 คน เพื่อดูว่าเพศมีผลต่อมุมมองในเรื่องข่มขืนหรือไม่ น่าสนใจที่ผลปรากฏว่า ชายรักต่างเพศเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจผิดๆ เรื่องข่มขืน และมักโดยนความผิดให้กับคนที่ถูกกระทำมากกว่าหญิงรักต่างเพศและเกย์ โดยเฉพาะกลุ่มเกย์แสดงความเห็นใจผู้ถูกกระทำมากที่สุด บ้านเราน่าลองใช้วิธีนี้มาสำรวจความคิดเห็นกันบ้าง เพื่อที่เวลาเราแก้ไขกฎหมายกัน จะได้มีสัดส่วนคนเพศต่างๆ เข้าไปช่วยกันดูกฎหมายให้รอบคอบ ให้มีอคติทางเพศน้อยที่สุด

แต่ใช่ว่าการแก้ไขกฎหมายรอบนี้จะมีแต่แง่มุมบั่นทอนคนทำงานด้านสิทธิ อย่างน้อยก็ยังมีแง่ดีเจือปนอยู่บ้าง เพราะมาตรา 277 ซึ่งในปี 2550 ระบุว่าถ้าผู้กระทำอายุไม่เกิน 18 ปี ผู้ถูกกระทำอายุ 13-15 ปี มีเพศสัมพันธ์โดยยินยอมกันทั้งคู่ ถ้าศาลอนุญาตให้แต่งงานกันได้ ก็ไม่ต้องรับโทษ มาตอนนี้ คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายนี้ มีความเห็นว่าควรยกเลิกเพราะเงื่อนไขตรงนี้มักถูกนำมาใช้เพื่อให้พ้นผิดไม่ต้องรับโทษ และพอแต่งงานเสร็จผู้ชายก็หนีหายไปเลย การยอมความก็เลยกลายเป็นช่องทางการหาประโยชน์ทั้งตำรวจ ทนายความ ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เป็นการร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากความทุกข์ยากของคน

หลายคนเห็นด้วยที่จะยกเลิกเรื่องการยอมความ เพราะมองว่ากฎหมายอาญายอมความไม่ได้ แต่ทำไมในคดีความผิดเรื่องเพศถึงยอมความได้ เพียงแต่ท้วงติงว่าคณะกรรมการยังขาดความความรอบรู้ในสถานการณ์สังคม จึงไม่ได้ระบุทางออกสำหรับเยาวชนที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากลองและมักจะลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์กันฉันท์คนรัก ในการรับฟังความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายข่มขืนเมื่อต้นเดือนนี้ มีเยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นสถานที่คุมประพฤติเยาวชนกระทำความผิด มาร่วมให้ความเห็นด้วย ถือได้ว่าเป็นตัวจริงเสียงจริง

เจ้าตัวเล่าว่ามีเพศสัมพันธ์กับแฟนตอนอายุ 17 ปี และแฟนอายุ 14 ปี พอพ่อแม่ผู้หญิงรู้เข้าก็ไปแจ้งความ แม้ผู้ปกครองของสองฝ่ายจะไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ก็สายเสียแล้วเพราะพนักงานสอบสวนบอกว่าผู้หญิงอายุไม่ถึง 15 ปี ตามกฎหมายแล้ว เด็กคนนี้ถือว่ากระทำผิด จึงต้องเข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก ถูกมองว่าเป็นอาชญากร หมดสิ้นกำลังใจ และเสียอนาคต

เขียนเรื่องเหตุผลของการแก้กฎหมายข่มขืน ก็ทำให้ได้ทบทวนตัวเองไปด้วย และก็ได้ข้อคิดสำหรับตัวเองว่า เอาเข้าจริงแล้วเรื่องเพศนั้นซับซ้อน จะมองในมุมของสิทธิล้วนๆ ไม่ได้ เรื่องของจิตใจสำคัญพอๆ กัน โดยเฉพาะคนที่ถูกกระทำเขาต้องเป็นคนบอกเองว่าเขารู้สึกยังไง เจ้าหน้าที่รัฐจึงควรฟังให้มาก และก็จะได้ทางออก สำหรับคดีที่คิดว่ายาก เช่น กรณีเยาวชนมีเพศสัมพันธ์กันโดยสมัครใจ เพราะหากผู้หญิงเขาไม่รู้สึกว่าถูกกระทำ มันเป็นเพียงการแสดงความรักต่อกัน ก็ต้องมีกระบวนการทางสังคมเข้ามาโอบอุ้มเขาไว้ให้ดำเนินชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าได้

1 ความคิดเห็น: