วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สิทธิการตาย

สิทธิการตายดีและการฆ่าตัวตาย

ตัดทอนจากหนังสือ สุขสุดท้ายที่ปลายทาง
มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2549
กรรณจริยา สุขรุ่ง

ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยยืดและต่ออายุการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่ล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายบางรายมีชีวิตอยู่ด้วยความช่วยเหลือของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยยืดอายุการทำงานของร่างกายออกไป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ สายระโยงระยางที่ห้อยแขวนทั่วร่างเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงร่างกายที่ใกล้หมดสภาพ ทั้งหมดทั้งปวงเป็นไปเพื่อยืดวันเวลาในการตายออกไป

คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า ภาวะที่ผู้ป่วยมีชีวิตในสภาพ “ฟื้นก็ไม่ได้ ตายก็ไม่ลง” อยู่ด้วยเครื่องจักรนั้น เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะดำรงตนอยู่อย่างมีคุณภาพ และไม่ปรารถนาที่จะเห็นตัวเองตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น

การเลือกที่จะไม่อยู่หรือตายในสภาพไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นที่กล่าวมา ทำให้เกิดประเด็นการพูดคุยเรื่อง สิทธิในการตาย อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่คัดค้าน

เมื่อกล่าวถึง สิทธิที่จะตาย หลายคนอาจเข้าใจว่า เป็นการให้สิทธิที่จะยุติการรักษาพยาบาล หรือให้แพทย์กระทำการใด ๆ เพื่อเร่งการตาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการส่งเสริมการฆ่าตัวตาย เป็นการฆ่า ซึ่งเป็นเรื่องผิดบาป









ในเมืองไทย การเร่งการตายด้วยเทคโนโลยี (Active Euthanasia –การุณฆาต) เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ ทั้งในแง่ของกฎหมาย จริยธรรมทางวิชาชีพทางการแพทย์ รวมถึงในมุมมองทางศาสนาด้วย

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ในสังคมที่ไม่มอง ความเจ็บปวด ทุพลภาพ หรือความตาย เป็นศัตรู จะยอมรับ โอบกอดความตายด้วยปัญญา เห็นเป็นการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ไม่พยายามผลักไส หรือหนีไปด้วยการเร่งความตาย หรือแม้แต่ยื้อออกไปเพราะยอมรับความตายไม่ได้

ผู้ที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ผู้ที่ยอมรับความตาย แต่ใช้ความตายยุติปัญหาบางอย่าง และผู้ที่ฆ่าตัวตายมักกระทำการในเวลาที่จิตใจเป็นอกุศล คือ เศร้าหมอง หดหู่ น้อยเนื้อต่ำใจ โกรธ เคียดแค้น หรือหลงผิด การตายที่จมอยู่ในความทุกข์เช่นนี้ย่อมไม่ใช่การตายที่ดีงาม และอาจสืบเนื่องไปสู่สภาวะหลังการตายด้วย

สิทธิในการตาย (ดี)
เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะไร้การเยียวยา สภาพร่างกายเสื่อมจนฟื้นคืนไม่ได้อีกแล้ว สิทธิการตาย น่าจะอยู่ที่การปล่อยให้ขั้นตอนการตายเป็นไปตามธรรมชาติ ปราศจากการแทรกแซง ฉุดยื้อด้วย ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ (Passive Euthanasia) และก็ไม่ได้หมายความว่า แพทย์จะยุติการรักษา เพียงแต่การรักษาในระยะนี้เป็นไปเพื่อเยียวยาอาการ บรรเทาความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน แต่จะไม่ทำอะไรรุกเร้า เร่งหรือยื้อความตายอีกต่อไป ถ้าหากจะยืดการตายออกไปก็เป็นไปเพื่อสร้างความพร้อมทางจิตวิญญาณให้กับผู้ที่กำลังจะจากไป

หนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้า (พินัยกรรมชีวิต)
การตายอย่างสงบ เป็นธรรมชาติและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิที่บุคคลพึงมีและพึงได้รับการเคารพ ยอมรับจากผู้อื่น สังคม และกฎหมาย แต่ปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่สามารถตายอย่างมีศักดิ์ศรีได้ เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้แสดงเจตจำนงในการใช้สิทธินี้ไว้ล่วงหน้า หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันขึ้นที่เราไม่อยู่ในสภาพที่จะบอกกล่าวความต้องการที่จะตายดีได้ ก็จะมีผู้อื่น ญาติ แพทย์ มาตัดสินแทนเรา ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ญาติอาจจะไม่รู้ความจริงว่า ผู้ป่วยอยู่ในภาวะใกล้ตายแล้ว หรือยังหวังที่จะให้คนที่ตนรักหายและกลับบ้านได้ยังมีอยู่ตลอดเวลา หรือแม้รู้แต่ก็คิดว่าต้องรักษาพยาบาลให้เต็มที่เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณให้กับคนที่ตนรัก ยิ่งในครอบครัวที่มีญาติพี่น้องมาก ยิ่งยากแก่การตัดสินใจ

ปัจจุบันเราจึงเริ่มพูดถึงแนวคิด เรื่อง พินัยกรรมชีวิต (Living will) คือให้มีการแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้าได้ อาจจะระบุแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ที่เราต้องการ หรือไม่ต้องการในกรณีต่างๆไว้

ในหลายประเทศมีกฎหมายรับรองในเรื่องนี้ และล่าสุด ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุถึงสิทธิในการจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติไว้ด้วย

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่ปรารถนาจะจากไปอย่างสงบ ตามความเชื่อของตน และคาดว่าจะช่วยลดทอนปัญหาความขัดแย้งระหว่างญาติพี่น้อง และ ทีมผู้ให้การรักษา ซึ่งหลายครั้งจะพบว่ามีปัญหาระหว่างแนวคิดที่จะยื้อชีวิตและความเห็นที่ต้องการปล่อยการตายให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ แม้ผู้ที่ปรารถนาจะจากไปอย่างสงบจะได้แจ้งความประสงค์ไว้ หากถึงเวลาที่ตัวเขาไม่สามารถบอกกล่าว ชี้แจงความต้องการได้ ก็คงขึ้นอยู่กับญาติ และผู้ให้การรักษาว่าจะเคารพในความปรารถนาของผู้ที่กำลังจะจากไปหรือไม่

การร้องขอ “การตายดี” จะเป็นไปได้ ก็เมื่อเราได้สื่อสารเรื่องความตายกันอย่างเนือง ๆ ได้รับรู้ความคิด ความเห็น และ ความเชื่อของกันและกัน และท้ายที่สุด ถ้าเราเคารพในความต้องการของผู้ที่เรารัก และไม่เห็นความตายเป็นศัตรูที่ต้องเอาชนะ

คำถามชวนคิด
- สำหรับท่าน การตายดีมีลักษณะอย่างไร
- ท่านปรารถนาจะตายอย่างไร ที่ไหน ในบรรยากาศเช่นไร
- ท่านอยากมีสภาพจิตอย่างไรในเวลาก่อนจากไป
- มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเอื้อให้เกิดความตายที่พึงปรารถนาเช่นนั้น และ จะมีอะไรเป็นอุปสรรคบ้าง
- ท่านคิดว่าจะทำอะไรได้บ้างในเวลานี้ที่จะสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการตายที่ดีของท่านเอง

1 ความคิดเห็น:

  1. “การคิดเรื่องความตาย ช่วยให้วางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ดี เราจะวางแผนเรื่องลูก การเงิน บริหารเวลาในทุก ๆ วันอย่างดีที่สุด เพื่อที่เราจะได้พร้อมจากลาได้อย่างเป็นสุข"

    ตอบลบ